กระบวนการทำ เด็กหลอดแก้ว
การทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธีการ ICSI (IVF/ICSI)
IVF (In-Vitro Fertilization) การทำเด็กหลอดแก้วเป็นเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์ทางการแพทย์ เพื่อรักษาคู่สมรสที่ประสบภาวะผู้มีบุตรยาก โดยการคัดเลือกไข่ที่สมบูรณ์จากคู่สมรสฝ่ายหญิงและนำเชื้ออสุจิจากคู่สมรสฝ่ายชายใส่ลงไปในหลอดแก้ว เพื่อให้อสุจิได้ทำการปฏิสนธิกับไข่ภายในหลอดแก้วเอง เป็นการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย จากนั้นไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิอย่างสมบูรณ์จะกลายเป็นตัวอ่อน และจะถูกเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการเฉพาะและตู้เพาะเลี้ยงตัวอ่อนพิเศษที่จำลองภาวะเหมือนอยู่ในร่างกายมนุษย์ จนถึงระยะที่เหมาะสม จะทำการย้ายตัวอ่อนกลับเข้าไปยังโพรงมดลูกของคู่สมรสฝ่ายหญิงเพื่อให้เกิดการฝังตัวและตั้งครรภ์
ICSI (Intra Cytoplasmic Sperm Injection) หรือที่เราได้ยินกันอย่างแพร่หลายในไทยว่า อิ๊กซี่ เป็นการช่วยการปฏิสนธิระหว่างเชื้ออสุจิ และไข่ โดยการคัดเลือกอสุจิมา 1 ตัว เพื่อทำการฉีดเข้าไปในไข่ที่สมบูรณ์ 1 ใบ โดยวิธีการนี้ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการทำ IVF เนื่องจากการทำเด็กหลอดแก้วแบบเดิมๆ พบว่าในขั้นตอนการผสมเทียมในหลอดแก้วบางครั้งเชื้ออสุจิไม่สามารถเจาะเปลือกไข่เข้าไปได้เอง ทำให้ไม่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้น วิธีการ ICSI นี้จึงถูกนำมาใช้ในการทำเด็กหลอดแก้วสมัยใหม่อย่างแพร่หลายเพื่อเพิ่มอัตราการปฏิสนธิ (Fertilization Rate) ทำให้อัตราความสำเร็จของการทำเด็กหลอดแก้วเพิ่มสูงมากขึ้น
ขั้นตอน & Timeline ในการทำ IVF/ICSI

วิธีการเตรียมตัว

ฝ่ายชาย
- นอนหลับให้เพียงพอ, ไม่เครียด, งดบุหรี่และสุรา, พยายามทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และทานวิตามินเสริมควบคู่ได้
- ต้องเจาะเลือดเพื่อตรวจความพร้อมก่อนการเก็บน้ำเชื้อ (สามารถเข้ามาตรวจก่อน หรือเข้ามาในวันที่ฝ่ายหญิงเก็บไข่)
- แนะนำให้เข้ามาตรวจวิเคราะห์คุณภาพอสุจิ (Sperm Analysis) ก่อนเริ่มกระบวนการรักษา
- ต้องเข้ามาเก็บน้ำเชื้อในวันที่ฝ่ายหญิงเก็บไข่ โดยงดการหลั่งอสุจิ 3-5 วันก่อนการเก็บน้ำเชื้อ
- น้ำเชื้อที่เก็บในวันที่ฝ่ายหญิงเก็บไข่ จะถูกนำส่งทางห้องปฏิบัติการ เพื่อทำการคัดกรอง และเลือกน้ำเชื้อที่ดีที่สุด มา ICSI กับไข่ต่อไป
- สำหรับผู้ชายที่ไม่สามารถเก็บน้ำเชื้อออกมาได้ด้วยวิธีการธรรมชาติ Masturbation ด้วยปัจจัยต่างๆ ทาง EKI-IVF ยังมีบริการ “การเก็บอสุจิโดยตรงจากอัณฑะ (PESA/TESE)”
ฝ่ายหญิง
การเตรียมตัวฝ่ายหญิงแบ่งออกเป็น 2 ช่วง
ช่วงแรกคือช่วงการกระตุ้นไข่ และอีกช่วงคือช่วงการย้ายตัวอ่อน
1. ช่วงกระตุ้นไข่ (Stimulation Process)
- เข้ามาพบแพทย์ครั้งแรกในช่วงไม่เกินวันที่ 3 ของการมีประจำเดือน เพื่อเจาะเลือดตรวจฮอร์โมนและรับยากระตุ้นไข่ (มีทั้งแบบรับประทานหรือแบบฉีดขึ้นอยู่กับแพทย์สั่ง)
- พบแพทย์ตามวันและเวลาที่แพทย์นัด และใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง (โดยทั่วไปหนึ่งรอบการกระตุ้น จะพบแพทย์ทั้งหมดประมาณ 3 ครั้งก่อนเก็บไข่)
- ช่วงกระตุ้นไข่จะต้องได้รับยาทุกวันเป็นช่วงเวลา 8-12 วัน ก่อนเข้าสู่กระบวนการเก็บไข่
- ทุกครั้งที่เข้ามาพบแพทย์จะมีการเจาะเลือดวัดระดับฮอร์โมนในร่างกายและตรวจอัลตร้าซาวด์ทางช่องคลอด (TVS) เพื่อติดตามขนาดการเติบโตของฟองไข่
- เมื่อไข่โตถึงขนาดที่เหมาะสม แพทย์จะสั่งยาเข็มสุดท้ายหรือยา Trigger เพื่อกระตุ้นให้ไข่มีการเจริญเติบโตจนสมบูรณ์ หลังได้รับยาไปประมาณ 34-36 ชั่วโมง จะเป็นช่วงเวลาที่ไข่เติบโตสมบูรณ์เต็มที่ แพทย์จะนัดเข้ามาเพื่อทำหัตถการเก็บไข่ (OPU; Ovum Pick Up)
- หัตถการเก็บไข่ (OPU; Ovum Pick Up) จะต้องมีการดมยาระงับความรู้สึกโดยวิสัญญีแพทย์ และจะทำการดูดไข่ออกจากรังไข่ผ่านทางช่องคลอด
- หลังหัตถการเก็บไข่ (OPU; Ovum Pick Up) จะต้องนอนพักฟื้นที่คลินิกประมาณ 1-2 ชั่วโมง แล้วสามารถกลับบ้านได้ (ไม่ต้องค้างคืน)
- ไข่ที่เก็บได้จะนำเข้าสู่กระบวนการทางห้องปฏิบัติการณ์ เพื่อผสมกับน้ำเชื้อของฝ่ายชายด้วยวิธีการ ICSI
- ตัวอ่อนที่ผ่านการ ICSI แล้ว จะถูกเลี้ยงในห้องปฏิบัติการประมาณ 5-6 วัน ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนย้ายตัวอ่อนรอบสด (ET; Embryo Transfer) หรือการแช่แข็งตัวอ่อน (Embryo Freezing) ต่อไป
2. ช่วงการย้ายตัวอ่อน (Embryo Transfer Process)
- แบ่งออกเป็นสองประเภท คือ การย้ายตัวอ่อนรอบสด (ET; Fresh Embryo Transfer) และ การย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็ง (FET; Frozen Embryo Transfer)
การย้ายตัวอ่อนรอบสด (ET: Fresh Embryo Transfer)
- หลังจากหัตถการเก็บไข่ (OPU: Ovum Pick Up) แพทย์จะนัดวันให้เข้ามาย้ายตัวอ่อนรอบสดกลับเข้าสู่โพรงมดลูก (โดยทั่วไปจะประมาณ ไม่เกิน 5 วันหลังเก็บไข่)
- การย้ายตัวอ่อนรอบสด (ET: Fresh Embryo Transfer) เป็นการนำตัวอ่อนที่เกิดจากการปฏิสนธิในห้องปฏิบัติการณ์ย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูกเพื่อการฝังตัวและตั้งครรภ์ ในรอบเดียวกัน กับรอบการกระตุ้นไข่
- หลังการย้ายตัวอ่อนรอบสด (ET: Fresh Embryo Transfer) จะต้องนอนพักฟื้นที่คลินิกประมาณ 1-2 ชั่วโมง แล้วสามารถกลับบ้านได้ (ไม่ต้องค้างคืน)
- แพทย์จะนัดเพื่อเข้ามาตรวจผลการตั้งครรภ์หลังจากย้ายตัวอ่อนไปประมาณ 10-14 วัน
- การย้ายตัวอ่อนรอบสด จะมีข้อจำกัด โดยร่างกายของฝ่ายหญิงต้องพร้อม เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกต้องหนาเพียงพอและ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่เสี่ยงต่อภาวะ การกระตุ้นไข่เกิน, อีกทั้งการย้ายรอบสดจะทำให้ไม่สามารถนำตัวอ่อนไป ตรวจความผิดปกติทางพันธุกรรม (Genetic Screening) ได้อีกด้วย
การย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็ง (FET: Frozen Embryo Transfer)
- หลังจากหัตถการเก็บไข่ (OPU: Ovum Pick Up) ฝ่ายหญิงสามารถกลับบ้าน และวางแผนช่วงเวลาที่จะเข้ามาย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูกได้ด้วยตนเอง
- ตัวอ่อนที่ผ่านการ ICSI ในวันเก็บไข่แล้ว จะถูกเลี้ยงในห้องปฏิบัติการประมาณ 5-6 วัน ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการแช่แข็งตัวอ่อน (Embryo Freezing)
- ตัวอ่อนสามารถแช่แข็งได้นานเท่าไหร่ก็ได้ตามที่คู่สมรสต้องการ
- เมื่อพร้อมที่จะย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็งในรอบเดือนไหน เมื่อมีรอบเดือนมาวันแรกให้แจ้งกับทางคลินิกเพื่อปรึกษาแพทย์เรื่องวิธีการกินยาเพื่อเตรียมเยื่อบุผนังมดลูกให้เหมาะแก่การย้ายตัวอ่อน และทางคลินิกจะออกใบนัดแพทย์ให้
- ในการเตรียมเยื่อบุผนังมดลูกโดยทั่วไป จะเริ่มกินยาช่วงวันที่ 2 ของการมีรอบเดือนไปจนถึงช่วงที่ย้ายตัวอ่อน (จะย้ายตัวอ่อนช่วงวันที่ 17-22 ของรอบเดือนนั้นๆ) ** ช่วงเวลาจะขึ้นอยู่กับสภาวะร่างกายของคู่สมรสฝ่ายหญิง
- ช่วงเวลาเตรียมเยื่อบุผนังมดลูกก่อนย้าย จะต้องเข้ามาเจาะเลือดวัดระดับฮอร์โมน และตรวจอัลตร้าซาวด์ทางช่องคลอด (TVS) เพื่อดูความหนาของผนังมดลูกตามที่แพทย์นัดหมาย
- เมื่อผนังมดลูกหนาตามที่เหมาะสมแก่การย้าย แพทย์จะนัดวันเพื่อเข้ามาทำการย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็ง (FET: Frozen Embryo Transfer)
- การย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็ง (FET: Frozen Embryo Transfer) เป็นการนำตัวอ่อนที่เกิดจากการปฏิสนธิในห้องปฏิบัติการณ์และถูกแช่แข็งไว้ มาเข้าสู่กระบวนการละลาย (Thawing) และย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูกเพื่อการฝังตัวและตั้งครรภ์
- หลังการย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็ง (FET: Frozen Embryo Transfer) จะต้องนอนพักฟื้นที่คลินิกประมาณ 1-2 ชั่วโมง แล้วสามารถกลับบ้านได้ (ไม่ต้องค้างคืน)
- แพทย์จะนัดเพื่อเข้ามาตรวจผลการตั้งครรภ์หลังจากย้ายตัวอ่อนไปประมาณ 10-14 วัน
อัตราการตั้งครรภ์ (IVF/ICSI)
ประมาณ 30-60 % (ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆร่วมด้วย เช่น อายุของคู่สมรส, คุณภาพเชื้ออสุจิ, ความสมบูรณ์ของไข่ และอื่นๆ)
หากมีการตรวจความผิดปกติทางพันธุกรรม (Genetic Screening) ร่วมด้วย อาจทำให้อัตราการตั้งครรภ์สูงขึ้นถึง 70% ตามสถิติของ EKI-IVF ที่ผ่านมา